prathae.com=> รายการแนะนำ -> ศึกษาก่อนสะสม


ศึกษาก่อนสะสม

FaceBook Twitter
จำนวนผู้เข้าชม : 9515 ครั้ง

ศึกษาก่อนสะสม














รายละเอียด

ศึกษาก่อนสะสม

ราคา : www.prathae.com .-

ประเภท : รายการแนะนำ

"เว็บพระแท้" www.prathae.com เว็บไซต์พระเครื่อง ที่รับเช็คพระ ประเมินราคา รับฝากขายพระ ปล่อยเช่าพระเครื่อง บริการรับส่งพระออกบัตรรับรองพระแท้ และให้คำปรึกษาเรื่องพระเครื่อง ให้กับสมาชิกและผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลแนวทางการสะสม พระแท้ ที่ถูกต้อง ตามมาตรฐานสากลนิยม ซึ่งนำเอาประสบการณ์กว่า30ปี มาถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราว แนะนำเคล็ดลับต่างๆในการเล่นหาและสะสมพระเครื่อง ซึ่งในปัจจุบันยังมีคนอีกมากที่มีพระเครื่อง แล้วอยากรู้ว่าพระที่ตัวเองมี แท้หรือไม่ มีราคามั๊ย ขายได้เท่าไหร่ ซึ่งผมขอชี้แจงแบบนี้ครับ พระเครื่องนั้นยังไม่มีราคามาตรฐานแบบทองคำ ดังนั้นจึงมีราคาแค่คนบางกลุ่ม ซึ่งก็ยากที่คนไม่ได้เล่นพระจะเข้าใจได้ ยกตัวอย่างเช่น เห็นหนังสือพระลงราคาขายพระที่ตัวเองมีในราคา10,000บาท แต่เอาไปขายที่ศูนย์พระ ไม่มีคนซื้อซ้ำยังบอกของเราไม่แท้ หรือแค่อยากรู้ว่าพระเราแท้มั๊ย มีราคามั๊ย เอาไปเช็คที่ไหนก็ไม่มีใครดูให้ หรือดูให้บอกแท้แต่ขายให้ไม่ซื้อ ทำให้เราคลุมเคลือไม่ชัดเจน นี่คือปัญหาที่ผมพบเจอมาก ด้วยประสบการณ์กว่า30ปีผมจึงจัดทำเว็บไซต์นี้ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางให้คนที่มีพระแล้วต้องการเช็คพระให้ได้ข้อมูลพระที่ชัดเจน คนที่ต้องการขายพระก็ขายพระได้ราคา หรือคนที่ต้องการเช่าพระแท้ ก็ได้พระแท้ที่ผ่านการตรวจเช็คและรับประกัน พร้อมทั้งรับเช่าคืนและมีราคาที่มีมาตรฐาน ซึ่งผมก็หวังว่าเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นนี้จะมีส่วนช่วยให้วงการพระเครื่องมีมาตรฐานและชัดเจนมากยิ่งขึ้น.

ความรู้เบื้องต้นก่อนเล่นพระ

สมัยเด็กๆผมชอบสะสมแสตมป์ พ่อผมชอบอ่านนิตยสาร แปลก และ นิตยสาร มหัศจรรย์ ผมพลอยได้อ่านไปด้วย ตอนนั้นเลยสนใจแต่เรื่องอภินิหารของพระเกจิอาจารย์ เชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซื้อแต่หนังสือเกี่ยวกับพระเกจิและพวกคาถาอาคมมาอ่านและฝึกมั่งลองท่องคาถามั่งตามประสาเด็ก พระที่บ้านก็พอมีแต่ไม่เยอะเท่าไหร่ เชื่อเรื่องพุทธคุณมาก ไปไหนไกลๆก็จะเอาสร้อยพระพ่อไปใส่แถมมีประสบการณ์เรื่องแคล้วคลาดปลอดภัยมาด้วยยิ่งเชื่อมั่นและศรัทธา พอปี2535 ผมได้นำพระส่วนหนึ่งที่บ้านไปให้ผู้รู้ดูและทราบว่าเป็นพระที่มีราคา เลยรู้ว่ามีวงการนักสะสมพระเครื่อง มีการซื้อขายกันด้วย พระบางอย่างมีราคาแพงมาก เลยทำให้อยากเก็บสะสมพระเครื่องขึ้นมา สมัยนั้นหนังสือพระที่ซื้อมาอ่านก็ นิตยสารมหาโพธิ์ (มีรูปพระเยอะ) และก็นิตยสาร หลักเซียน (มีข้อมูลและชี้ตำหนิ) ศึกษาจากหนังสือพระจนรู้วัดรู้ราคา สนามพระที่ไปเดินบ่อยๆก็หน้าวัดไผ่ตัน สวนจตุจักร ตลาดไทยณรงค์สะพานใหม่ และท่าพระจันทร์ เช่าหาสะสมมาได้ปีนึง มีพระดังมีราคาหลายองค์ (คิดว่าดี) เคยเอาไปแห่ที่ท่าพระจันทร์ มีคนต่อราคาขอซื้อ ภูมิใจอยู่นานทีเดียว ปี2536มีงานประกวดพระ ก็ไป เอาพระที่มีที่มั่นใจไปส่งดูมั่ง ค่าส่งพระตอนนั้นองค์ละ200 ทำงานเงินเดือนไม่ถึง4000 ส่งพระไป4องค์ ใช้เวลาไม่ถึง10นาที ผมเสียเงินไป800 สรุปคือพระที่ส่งไปเก๊ทุกองค์ รวมถึงพระ2องค์ที่มีคนต่อราคาตอนไปแห่ท่าพระจันทร์ ซึมไปเป็นเดือนครับ เลยรู้ว่าวงการนี้ไม่ใช่ง่ายๆนะอย่าคิดว่าเก่ง จริงๆแค่กบในกะลา ศึกษาอยู่เป็นปีไม่เป็นอะไรเลย คนเป็นใช้เวลาในการดูไม่ถึงนาที จากนั้นมาผมก็มุมานะเรื่อยมา ไปสนามพระบ่อยขึ้น ศึกษาทั้งพระและคนขายพระ จากวันนั้นถึงวันนี้ปี2566 ก็31ปี ในเส้นทางพระเครื่อง มีความรู้และแนวทางมากพอควรที่จะถ่ายทอดให้กับคนที่สนใจมาศึกษาและสะสมพระเครื่องในแนวทางที่ถูกต้องและสากลนิยมวงการพระครับ..ที่จะแนะนำอย่างแรกเลยคือ

  1. ต้องซื้อหนังสือมาดูเป็นไกด์ไลน์ เพื่อทำความรู้จักพระแต่ละชนิดว่ารูปร่างแบบนี้เรียกว่าพระอะไรวัดไหนใครสร้าง สมัยนี้ยิ่งง่ายแค่ทราบว่าพระอะไรเราก็ไปหาข้อมูลในอินเตอร์เนตได้เลย สำหรับหนังสือก็แนะนำ นิตยสารพระท่าพระจันทร์ เพราะเป็นหนังสือพระที่ได้มาตรฐาน จัดทำขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพระเครื่อง อ่านบ่อยๆผ่านตาบ่อยๆ สมองจะจำไปเอง เพราะเราสนใจมันเลยจำง่ายครับ
  2. หลังจากเริ่มรู้จักพระแต่ละชนิดแล้วนะครับ(อาจควบคู่กันไป)ถามตัวเองเลยครับว่าอยากเป็นนักสะสมพระเครื่องชอบพระประเภทไหน  อยากสะสมเพราะว่า เชื่อมั่นในพุทธคุณพระเกจิอาจารย์หรือหลวงพ่อที่เรานับถือ หรืออยากสะสมเพราะอยากเก็งราคามีกำไรในอนาคต ส่วนตัวผมเริ่มจากอันแรกครับ
  3. พระเครื่องในปัจจุบันมีมากมายหลายประเภท ดิน ชิน ผง เหรียญ กริ่ง  รูปหล่อ พระแต่ละประเภทจะมีธรรมชาติและเนื้อหาที่แตกต่างกัน ตัวผมเองให้ความสำคัญกับเรื่องกรรมวิธีการสร้างพระเครื่องและธรรมชาติเนื้อหาของพระแต่ละประเภท มากกว่าตำหนิต่างๆตามที่หนังสือพระชี้บอก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ายึดตำหนิเป็นสำคัญอยากเป็นเหรียญพระเครื่อง100เหรียญ ต้องจำตำหนิให้แม่นทั้ง100เหรียญ แต่พระเครื่อง100เหรียญ มีกรรมวิธีการสร้าง3แบบ มีขอบตัด3แบบ 1.เหรียญที่สร้างยุคแรกๆจะปั๊มเหรียญออกมาเป็นแผ่นแล้วมาเลื่อยตัดขอบที่หลัง เรียกว่าข้างเลื่อย 2.ยุคถัดมาใช้การตีปลอกขอบเหรียญ ทำให้ขอบเหรียญเรียบและยกขึ้น ความหนาของเหรียญไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่จะมาเชื่อมหูทีหลัง 3.พอมายุคปัจจุบันโรงงานได้ทำตัวตัดเหรียญแล้วเลยเรียกว่าขอบตัด ซึ่งผมสนใจศึกษาเรียนรู้ตรงนี้มากกว่าครับ จึงง่ายต่อการพิจารณาแค่ต้องจำให้ได้ว่าเหรียญไหนกรรมวิธีเป็นอย่างไร เช่นเจอเหรียญสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(เจริญ)รุ่นแรกปี2483  ดูขอบข้างเป็นขอบตัด ตำหนิไม่ต้องดูแล้วครับ เพราะเหรียญแท้สร้างแบบตีปลอกขอบกระบอก หูเชื่อม ขอบจะเรียบไม่มีรอยปั๊มตัด ผิดกรรมวิธี เป็นต้น
  4. ปัจจุบันการจะเป็นพระแต่ละอย่างทำได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก เพราะจะหาพระแท้ๆดูสักองค์ยากมาก พระแท้ๆส่วนใหญ่จะอยู่บนห้างหรือศูนย์พระเครื่องใหญ่ๆ ซึ่งการจะไปขอดูเพื่อศึกษาไม่มีที่ไหนยินดีสักเท่าไหร่ครับ ต้องเช่าเค้าไปดูที่บ้านเท่านั้น และราคาพระสมัยนี้ที่นิยมสากลล้วนแพงๆทั้งนั้น ก็แนะนำให้ศึกษาและสะสมตามกำลังทรัพย์ของเราเท่านั้น ยิ่งพระเครื่องตามตลาดนัดหรือริมถนนหลีกเลี่ยงได้ก็ควรทำครับ ของแท้ไม่มีถูกๆ ของถูกๆมักไม่แท้ครับ
  5. สุดท้ายนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลต่างๆและประสบการณ์ส่วนตัวของผม จะเป็นแนวทางให้ทุกคนที่สนใจพระเครื่องได้ไม่มากก็น้อย ให้โชคดีสมหวัง ได้เป็นเจ้าของพระเครื่องที่ปราถนากันนะครับ
ธนวัฒน์ เกษรเพชร







  เมื่อวันที่ : 2023-06-23 07:20:56